รู้จัก Swing Pricing และ ADLs เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม

สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ กลับมาพบกับ Series ที่จะทำให้เพื่อน ๆ รู้จักเครื่องมือที่กองทุนรวมใช้ในการบริหารสภาพคล่องโดยเฉพาะในยามที่ตลาดการเงินมีความผันผวนมากเกินปกติ ใน EP นี้ เราลองมาทำความรู้จักเพิ่มอีก 2 เครื่องมือที่อยู่ในกลุ่มส่งผ่านต้นทุนธุรกรรม (Pass on Transaction Costs) หลังจากที่ EP ที่แล้วพาเพื่อน ๆ ไปทำความเข้าใจเครื่องมือที่ชื่อ Liquidity Fee แบบอีซี่ ๆ EP นี้เราจะไปเจาะอีก 2 เครื่องมือที่เหลือคือ Swing Pricing และ ADLs ใช้ยังไง เงื่อนไขคืออะไร กระทบต่อการลงทุนเราไหม ไขข้อข้องใจไปพร้อมกันค่ะ

“Swing Pricing กับ การปรับ NAV per unit ใหม่ รู้ไว้จะได้คุยกับเขารู้เรื่อง”

ถ้าต่อไปเพื่อน ๆ เจอคำว่า Swung NAV อย่าเพิ่ง งง กันไปนะคะ เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวมมีทางเลือกให้กองทุนรวมสามารถใช้เครื่องมือ Swing Pricing ซึ่งเป็นเครื่องมือในการปรับมูลค่าหน่วยลงทุน ให้สะท้อนต้นทุนการซื้อขายทรัพย์สินของกองทุนรวม โดยจะนำเอาอีกตัวแปรที่เรียกว่า Swing Factor มาบวกหรือลบออกจากมูลค่าหน่วยลงทุนที่ใช้เกณฑ์การคำนวณแบบปกติ 

“แล้วเจ้า Swing Factor คืออะไร”

Swing Factor ถ้าพูดแบบให้เข้าใจง่ายคือ ต้นทุนที่เกิดขึ้นในกรณีที่กองทุนรวมมีการเร่งซื้อหรือเร่งขายเกินปกตินั้นเอง ต้นทุนดังกล่าวก็เช่น ค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย ส่วนต่างจากการเร่งขายหรือซื้อที่ทำให้ราคาที่ได้สูงหรือต่ำกว่าราคาตลาดตามสภาวการณ์ปกติ หรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการไถ่ถอนคืนสินทรัพย์ก่อนครบกำหนด เป็นต้น โดยบลจ. จะทำการปรับ มูลค่าหน่วยลงทุนด้วยการเพิ่มหรือหักออกด้วย Swing Factor โดยมูลค่าหน่วยลงทุนรูปแบบใหม่ที่ได้เรียกว่า Swung NAV 

โดยการใช้งานเครื่องมือกองทุนรวมสามารถใช้ได้ 2 แบบ คือ แบบใช้การคำนวณ NAV แบบ Swung NAV ทุกวัน (Full Swing Pricing) และแบบใช้การคำนวณ NAV แบบ Swung NAV เฉพาะวันที่มีการซื้อขายเกินกว่าปริมาณที่กำหนดไว้ (Partial Swing Pricing) ซึ่งรูปแบบ Full Swing Pricing มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เลือกใช้วิธีนี้จะถูกปรับด้วย Swing Factor ในทุก ๆ วัน นั่นหมายความว่าเวลาเพื่อน ๆ ดู NAV ของกองทุนรวมจะหมายถึง NAV ที่ถูกรวมกับ Swing Factor แล้วนั่นเอง

ส่วนแบบ Partial Swing Pricing หรือแบบที่ไม่นำ Swing Factor มาคำนวณรวมทุกวัน การใช้งานกองทุนรวมจะทำการกำหนดระดับปริมาณการซื้อขายสับเปลี่ยนสุทธิที่จะใช้เครื่องมือนี้ และเมื่อเกินกว่าระดับปริมาณการซื้อขายสับเปลี่ยนสุทธิที่กำหนดจะนำ Swing Factor มาปรับมูลค่าหน่วยลงทุนที่ใช้เกณฑ์การคำนวณแบบปกติ โดยสามารถเกิดได้ทั้งในกรณีที่ฝั่งซื้อหน่วยลงทุนมากกว่าฝั่งขายหน่วยลงทุน และกรณีที่ฝั่งขายหน่วยลงทุนมากกว่าฝั่งซื้อหน่วยลงทุน โดยอัตรา Swing Factor ที่ใช้ในแต่ละกรณีอาจจะไม่เท่ากันก็ได้

ในฝั่งบลจ. นั้นสามารถกำหนดอัตรา Swing Factor ที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการซื้อหรือขายสินทรัพย์ในกองทุนรวมที่เกิดขึ้น และระบุอัตรา Swing Factor สูงสุดไว้ในหนังสือชี้ชวน โดย บลจ. สามารถปรับอัตรา Swing Factor ที่ใช้ได้ แต่จะต้องไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม เพื่อน ๆ สบายใจได้เลยว่า Swing Factor ที่ใช้จะสะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้น และมีการกำหนดเพดานไว้ไม่ใช่เก็บเท่าใดก็ได้ โดยเป็นไปเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กองทุนโดยรวม

“ADLs สะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้น ประโยชน์ร่วมผู้ถือหน่วยลงทุน”

ส่วน ADLs หรือ Anti-Dilution Levies ชื่อยาว ๆ อย่าเพิ่ง งง กันไปนะคะ เอาเป็นว่าเราเรียกเขาว่า ADLs ละกัน เครื่องมือนี้การใช้งานจะคล้ายกับ Partial Swing Pricing  ส่วนที่ต่างกันคือ Partial Swing Pricing จะนำเอาต้นทุนใน Swing Factor มาปรับมูลค่าหน่วยลงทุน แต่ ADLs จะเป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ซื้อหรือผู้ขายหน่วยลงทุนฝั่งที่เกินกว่าระดับที่กำหนด โดยการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมกองทุนรวมสามารถกำหนดอัตราที่แตกต่างกันได้ ทั้งนี้ ตัวแปรที่จะมากำหนดค่าธรรมเนียมเรียกเก็บเท่าใดขึ้นอยู่กับต้นทุนของกองทุนรวมที่เกิดขึ้น ดังนั้น ADLs จึงจะช่วยส่งต่อต้นทุนอย่างเหมาะสม และรักษาผลประโยชน์ร่วมทุกท่านนั้นเอง 

ค่าธรรมเนียมจากเครื่องมือ ADLs ที่กองทุนรวมจะเรียกเก็บ เรียกเก็บเท่าไรก็ได้ใช่หรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่ค่ะ เหมือนกับ Partial Swing Pricing คือกองทุนรวมจะกำหนดอัตราสูงสุดคิดเป็นเปอร์เซ็นต่อมูลค่าของหน่วยลงทุน เช่น ไม่เกินกว่า 2% ของมูลค่าหน่วยลงทุน เป็นต้น และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจะต้องสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้นที่กองทุนรวมได้รับ และต้องระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

เห็นไหมคะจากเครื่องมือทั้ง 2 เครื่องมือที่เล่ามา สาระสำคัญคือเพื่อสะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาประโยชน์ผู้ถือหน่วยร่วม และแน่นอนว่าเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องของกองทุนรวม วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อเป็นเครื่องมือให้กองทุนรวมสามารถบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมได้อย่างเหมาะสม อันจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนและที่สำคัญไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม 

…แล้ว EP หน้าเรามาทำความรู้จักเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวมกันแบบง่าย ๆ ในเครื่องมือต่อไปที่เรียกกันว่ากลุ่มเครื่องมือ Restrict access to investor capital หรือกลุ่มเครื่องมือที่จำกัดหรือชะลอการซื้อขาย กันนะคะ

#LMTs #AIMC #MutualFund #เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม #SwingPricing #ADLs