LMTs เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม

“ความเสี่ยงคืออะไร ?” 

ความเสี่ยงคือความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ในด้านการลงทุนเพื่อน ๆ น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่าอาจจะมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ เช่น ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์ที่ต่างไปจากการคาดการณ์เป็นอย่างมาก ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องจากการเร่งไถ่ถอนกองทุน ความผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดเงินและตลาดทุนเป็นวงกว้าง เป็นต้น คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ “จะจัดการและบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร” ในกรณีทั่วไปแล้ว เราอาจมีทางเลือกในการจัดการความเสี่ยงด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ยอมรับ ถ่ายโอน ป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงกับความเสี่ยงเหล่านั้น ซึ่งเราจะใช้วิธีการแบบไหน มักขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะเกิด และความหนักเบาของผลกระทบ 

“ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง กับกองทุนรวม”

สำหรับการลงทุนผ่านกองทุนรวม นอกเหนือจากความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของตลาดและชนิดของสินทรัพย์ที่แต่ละกองทุนรวมไปลงทุนแล้ว หนึ่งในความเสี่ยงสำคัญที่อาจจะกระทบต่อผู้ลงทุนโดยตรงคือความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม ซึ่งอาจเกิดจากการเร่งขายคืนหน่วยลงทุนในปริมาณมากหรือภายใต้ระยะเวลาจำกัดจนทำให้ระดับเงินสดหรือสินทรัพย์ที่ใกล้เคียงเงินสดของกองทุนมีไม่เพียงพอเพื่อชำระคืนผู้ขาย จนทำให้ผู้จัดการกองทุนต้องเร่งขายสินทรัพย์ที่ถือออกเพื่อดึงสภาพคล่องกลับ การเร่งขายสินทรัพย์อาจทำให้กองทุนไม่สามารถขายสินทรัพย์ที่ถือครองได้ในระดับราคาที่เหมาะสม เกิดต้นทุนส่วนเกินหรือขาดทุนได้ เป็นต้น 

มาถึงตรงนี้เพื่อน ๆ อาจจะตั้งคำถามว่า “แล้วทำไม่ถึงไม่ตั้งระดับของสภาพคล่องกองทุนให้สูงไว้ ?” คำตอบคือการที่กองทุนรวมถือเงินสดหรือสินทรัพย์ที่ใกล้เคียงเงินสดสูงจนเกินไปแทนที่จะนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เงินทำงานงอกเงย การถือเงินสดไว้เฉยๆก็จะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนโดยเฉพาะในระยะปานกลางถึงยาวไม่ดีนั่นเอง ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจึงต้องพยายามรักษาสมดุลระหว่างการเพิ่มผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุน ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนรวมด้วย

โดยทั่วไปแล้วในการจัดการเรื่องสภาพคล่องของกองทุนรวม บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) จะมีการบริหารจัดการตั้งแต่กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ การวางนโยบายในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของตลาดการลงทุนเพื่อพิจารณาระดับของสภาพคล่องกองทุนที่เหมาะสมเพื่อรองรับการขายหรือไถ่ถอนกองทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุน เป็นต้น แต่เนื่องจากปัญหาความผันผวนของตลาดการลงทุนและปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อสภาพคล่องและ บลจ. เองก็ไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกเหล่านั้นได้ ดังนั้นในกรณีของการบริหารจัดการกองทุนรวมต่อความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่สูงขึ้นกว่าปกติ ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยและเมื่อเกิดแล้วอาจจะมีผลกระทบในวงกว้าง ทาง บลจ. จึงต้องมีตัวช่วยหรือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงที่จะรุนแรงขึ้นหรือขยายตัวเป็นวงกว้าง สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้กำหนดให้กองทุนรวมในประเทศไทยจะต้องมีเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม (Liquidity Management Tools : LMTs) ที่เหมาะสม โดยได้มีประกาศและเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

“ยกระดับการบริหารกองทุนรวมผ่านเครื่องมือระดับสากล”

ปัจจุบันการลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นที่นิยมมากขึ้น สะท้อนผ่านมูลค่าการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น การที่กองทุนรวมไม่มีเครื่องมือเพื่อรองรับความเสี่ยงอย่างเหมาะสมอาจจะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อตลาดการลงทุนโดยรวมได้ในอนาคต เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม (LMTs) นอกจากจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงสภาพคล่องของกองทุนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการยกระดับการบริหารงานกองทุนรวมให้เป็นแนวทางเดียวกันกับประเทศชั้นนำ ช่วยรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยโดยรวม ในทางอ้อมยังช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดทุนโดยรวมด้วย 

“LMTs: 7 เครื่องมือเพื่อความเป็นธรรมและประโยชน์ร่วมผู้ถือหน่วยลงทุน”

เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวมประกอบด้วย 7 เครื่องมือหลัก ครอบคลุมแนวทางทั้งด้านการส่งต่อต้นทุนธุรกรรมทำให้การซื้อขายของผู้ลงทุนสะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้น เครื่องมือที่กำหนดเงื่อนไข เช่น ปริมาณหรือระยะเวลาเพื่อชะลอความร้อนแรงในการซื้อขายหน่วยลงทุน รวมถึงเครื่องมือที่อาจจะระงับการซื้อขายชั่วคราวในกรณีที่เกิดสภาวการณ์ที่ผิดปกติไปอย่างมากในตลาด ในการนำเครื่องมือแต่ละเครื่องมือมาใช้ก็จะต้องเป็นไปตามที่กองทุนได้ระบุไว้ในโครงการและในหนังสือชี้ชวน การใช้เครื่องมือเป็นไปเท่าที่จำเป็น เพื่อความเป็นธรรมและประโยชน์โดยรวมของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ 

“การมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวมเป็นเรื่องดี ๆ เป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย  และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ เพื่อน ๆ จะได้ลงทุนในกองทุนรวมได้อย่างสบายใจนะคะ”

#LMTs #AIMC #MutualFund #เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม