[ลงทุนแมน] กองทุนรวม บริหารความเสี่ยงสภาพคล่องอย่างไร เมื่อโลกผันผวน

กองทุนรวม บริหารความเสี่ยงสภาพคล่องอย่างไร เมื่อโลกผันผวน
AIMC x ลงทุนแมน

หลายคนเลือกลงทุนในกองทุนรวม เพราะต้องการให้มืออาชีพช่วยบริหารการลงทุนให้
ถือเป็นหนึ่งในวิธีกระจายความเสี่ยง ด้านการลงทุนที่น่าสนใจ

แต่เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่มีความผันผวนตลอดเวลา
ทั้งจากการแพร่ระบาดของโรค, ภาวะสงคราม ไปจนถึงแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

จึงไม่ต้องแปลกใจ หากความกลัวต่าง ๆ จะทำให้ใครหลายคนเลือกขายกองทุนที่ถืออยู่ไปแบบง่าย ๆ

รู้หรือไม่ว่า นั่นอาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กองทุนรวมประกาศเลิกกองทุนได้
หากกองทุนรวมปิด เหลือผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ถึง 35 ราย
หรือหากกองทุนรวมเปิด เกิดการขายคืนรวมกันเกินกว่า 2 ใน 3​ เป็นเวลา 5 วันต่อเนื่องกัน

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ นักลงทุน อย่างไร ?
แล้วกองทุนรวม จะบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องอย่างไร เมื่อโลกผันผวน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม เรียกว่า Liquidity Management Tools (LMTs)
ซึ่งได้รับการยอมรับว่า เป็นเครื่องมือระดับสากล และถูกใช้ในต่างประเทศมานานแล้ว

โดยสำนักงาน ก.ล.ต. เริ่มนำเครื่องมือชนิดนี้เข้ามาในประเทศไทย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุน

ตัวอย่างของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ก็เช่น

– ชะลอผลกระทบด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม ที่อาจรุนแรงจนถึงขั้นปิดกองทุน
– ปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหน่วยลงทุน
– กองทุนไทยมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่อง สอดรับกับกองทุนรวมต่างประเทศ ที่เสนอขายในประเทศไทย หรือ Foreign Investment Fund (FIF)
– ลดความเสี่ยงของระบบ หรือ Systemic Risk ของอุตสาหกรรมกองทุนรวม

ซึ่งจริง ๆ นอกเหนือจากเครื่องมือ LMTs แล้ว
บลจ. ก็ยังมีอีกหลายองค์ประกอบ ในกระบวนการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม
เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์, นโยบายการดํารงสินทรัพย์สภาพคล่อง, การวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง

คำถามก็คือ แล้ว LMTs เกี่ยวข้องกับเรา อย่างไร ?

เราในฐานะของผู้ลงทุน เมื่อใดก็ตาม หากผู้ลงทุนแห่ขายหน่วยลงทุนอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงของสถานการณ์ก็จะตามมาอย่างแน่นอน

ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์สภาพคล่องกองทุนผิดปกติ
บลจ. จะทำการประเมินสถานการณ์ เพื่อเลือกใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม

กรณีในสถานการณ์สภาพคล่องกองทุนผิดปกติเบา ๆ
บลจ. มักจะเลือกใช้เครื่องมือกลุ่มที่ 1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายของผู้ลงทุน

เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ที่ขายคืนเกินปริมาณหรือเวลาที่กําหนด เรียกว่าเครื่องมือ Liquidity Fee

โดย บลจ. จะกําหนดตามการคำนวณ Transaction Costs
เช่น Bid-ask Spread ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการซื้อขายทรัพย์สิน ต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการรักษาสัดส่วนการลงทุน
เพื่อสะท้อนต้นทุนของกองทุนรวม และเพื่อความเป็นธรรมกับผู้ถือหน่วยลงทุน ที่ไม่ได้ทำรายการในช่วงดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือ Swing Pricing เป็นการปรับ NAV ต่อหน่วยลงทุน ตามแต่กองทุนรวมจะกำหนด

เช่น กำหนด Swing Pricing อัตราสูงสุดไม่เกิน 3% ของมูลค่าหน่วยลงทุน
เพื่อสะท้อนต้นทุนการซื้อขายทรัพย์สินของกองทุนรวม ในช่วงสถานการณ์สภาพคล่องผิดปกติ

โดยเครื่องมือเหล่านี้ บลจ. ไม่จำเป็นว่าจะต้องเลือกใช้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของกองทุนรวม และสภาพคล่องของสินทรัพย์ลงทุน

กองทุนรวมต่างประเทศ Feeder Fund ก็สามารถใช้เครื่องมือตามกองทุนรวมต้นทางได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากเป็นสถานการณ์สภาพคล่องกองทุนผิดปกติหนัก ๆ
บลจ. จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือในกลุ่มที่ 2 เพื่อเข้ามาช่วยจํากัดการทําธุรกรรมซื้อขายของนักลงทุน
เพื่อทำให้ความร้อนแรงของสถานการณ์นั้นลดลง

เช่น การกำหนดวันส่งคำสั่ง เพื่อทำรายการล่วงหน้า
เมื่อต้องการขายคืน หรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกเกินปริมาณที่กำหนด
ที่เรียกว่า เครื่องมือ Redemption Gate

โดย บลจ. ต้องคำนึงถึงเวลาในการจัดเตรียมขายสินทรัพย์ได้อย่างเหมาะสม
เพราะสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภท มีสภาพคล่องต่างกัน

หาก บลจ. กําหนดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืน 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องส่งคําสั่งล่วงหน้า 5 วันทําการ
เท่ากับว่า คําสั่งนี้จะทํารายการจริง ๆ ในอีก 5 วันทําการข้างหน้า

นอกจากนี้ เพื่อให้ NAV ต่อหน่วยลงทุน สะท้อนมูลค่าสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเท่านั้น
บลจ. ยังมีเครื่องมือ Side Pocket คือการแยกทรัพย์สินที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง ออกจากกองทุนรวม

โดยผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ต้องสั่งขายคืนทรัพย์สินในส่วนนี้
แต่ บลจ. จะคืนเงินให้ผู้ถือหน่วยลงทุน เมื่อ บลจ. ได้รับเงินจากทรัพย์สินส่วนนี้ นั่นเอง

ถึงตรงนี้ หากถามว่า LMTs จะทำให้ผลตอบแทนของกองทุนรวมลดลงหรือไม่..

คำตอบคือ ไม่ต้องกังวล เพราะหน้าที่ของ LMTs คือการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุน
โดยทําให้ต้นทุนการซื้อขายเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาผิดปกติ ถูกถ่ายโอนไปยังผู้ทําธุรกรรม
และเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนของกองทุนรวมนั้น ๆ
ด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลตอบแทนของกองทุนรวมแต่อย่างใด

สรุปแล้ว LMTs เป็นหนึ่งเครื่องมือของกองทุน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุน นั่นเอง..

ร่วมทำแบบสอบถามประเมินการสื่อสาร เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม หรือ Liquidity Management Tools (LMTs) กับ AIMC เพื่อรับบัตรกำนัล Starbucks มูลค่า 200 บาท สำหรับ 300 ท่านแรกที่ทำแบบสอบถาม ได้ที่ http://bit.ly/3ERK3Wb

*สงวนสิทธ์ท่านละ 1 รางวัล
*การตัดสินจากคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

References
https://bit.ly/3RnBQhp
www.aimc.or.th
https://www.sec.or.th/…/terminationofmutualfund.aspx