ปัจจุบัน การลงทุนผ่านกองทุนรวมคือหนึ่งในทางเลือกหลักที่คนนึกถึงไม่แพ้การลงทุนผ่านช่องทางอื่น ด้วยข้อได้เปรียบคือกองทุนรวมนั้นมีมืออาชีพที่คอยบริหารจัดการให้ ด้วยค่าธรรมเนียมเล็กน้อยในการบริหาร ทำให้ตลาดของกองทุนรวมเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลล่าสุดของ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ได้เปิดเผยว่า ตัวเลขเม็ดเงินในอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด) ในไตรมาส 1 ปี 2565 เป็นตัวเลขที่สูงถึง 4.1 ล้านล้านบาท นั่นสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยให้ความสนใจกับการลงทุนไม่น้อยเลย
การที่มีคนสนใจลงทุนมากขึ้นย่อมเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับดูแลย่อมต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นจากขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้นด้วย หนึ่งในนั้นคือความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องของสภาพคล่อง หากอยู่ดี ๆ วันหนึ่งมีสถานการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นในตลาดการลงทุน จนส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนขายกองทุนมากกว่าปกติ หากไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่ดี ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่องได้
ด้วยเหตุนี้เอง บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนจึงได้มีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวมขึ้นมา ในชื่อ Liquidity Management Tools (LMTs) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนในกองทุนรวม และลงทุนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
LMTs คืออะไร?
LMTs หรือ Liquidity Management Tools เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องของกองทุนรวมที่จะถูกนำมาใช้ในวันที่กองทุนใดกองทุนหนึ่งเกิดปริมาณการซื้อขายสูงเกินกว่าปกติไปมาก หรือวันที่ตลาดโดยรวมมีความผันผวนรุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องตามมา
ตัวอย่างเช่น ในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ตลาดหุ้นร่วงหนักในช่วงแรก ๆ ราคาหุ้นที่ลดลงย่อมส่งผลให้กองทุนรวมที่ถือหุ้นอยู่ มีมูลค่าหน่วยลงทุนลดลงตามไปด้วย เมื่อราคาหน่วยลงทุนลดลงมากเข้า ประกอบกับความไม่แน่นอนในสถานการณ์โรคระบาด จึงไม่แปลกถ้าผู้ถือหน่วยลงทุนจะมีความกังวลและตัดสินใจขายกองทุนออกมาเพื่อเก็บเงินสดไว้ก่อน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว การที่ผู้ถือหน่วยลงทุนส่งคำสั่งขายในปริมาณมาก จะยิ่งเป็นการเร่งให้กองทุนจำเป็นต้องขายหลักทรัพย์ที่ถืออยู่ไว้ด้วย อาจเป็นการกดดันให้ตลาดหุ้นร่วงเพิ่มเติมได้อีก และเมื่อราคาหุ้นลดต่ำลง ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ถือหุ้นอยู่ ก็จะมีราคาหน่วยลงทุนลดลงต่อไปอีก กลายเป็นวัฏจักรเช่นนี้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
ในช่วงเวลาปกติ กองทุนรวมทุกแห่งจะมีสภาพคล่องบางส่วนเตรียมไว้เพื่อรองรับการขายหน่วยลงทุนอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ที่เกิดได้ยากมาก ๆ อย่างเช่นช่วงวิกฤตโรคระบาด จำเป็นต้องมีเครื่องมือเสริมเพื่อรับมือกับเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ LMTs จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเบาะรองรับและป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือไปจากนี้ยังมีกระบวนการอื่น ๆ อาทิ กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ การวางนโยบายในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของตลาดการลงทุน เพื่อพิจารณาระดับของสภาพคล่องกองทุนรวมที่เหมาะสม ผู้ถือหน่วยลงทุนจึงมั่นใจได้ว่าความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพคอยดูแลอย่างใกล้ชิดและมีเครื่องไม้เครื่องมือที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพ
LMTs ทำงานอย่างไร
LMTs เป็นเครื่องมือที่ใช้บริหารจัดการกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมโดยเฉพาะ การใช้งานของแต่ละเครื่องมือขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ที่ผิดปกติ โดย LMTs สามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มส่งผ่านต้นทุนให้กับผู้ทำธุรกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และกลุ่มลดหรือชะลอแรงซื้อขาย
กลุ่มส่งผ่านต้นทุน (Pass on Transaction Costs) คือเครื่องมือที่ผู้ทำธุรกรรมเกินปริมาณหรือระยะเวลาที่กำหนดในช่วงเวลาดังกล่าวจะต้องเป็นคนรับภาระค่าใช้จ่าย โดยเครื่องมือในกลุ่มนี้จะประกอบด้วย 3 เครื่องมือย่อย
1) การคิดค่าธรรมเนียมผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออก เกินปริมาณ และ/หรือ ระยะเวลา (Liquidity Fee) เป็นเครื่องมือที่ให้ บลจ. สามารถเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกเกินกว่าที่กำหนด หรือก่อนระยะเวลาที่กำหนดได้ เช่น ปกติอาจเก็บค่าธรรมเนียมการขายคืนที่ 1% แต่หากมีการขายคืนเป็นปริมาณที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ซึ่งจะไม่เกินอัตราสูงสุดที่กำหนดไว้ เพราะหากมีการขายในปริมาณมากพร้อมกัน กองทุนรวมเองก็จำเป็นต้องเร่งขายหลักทรัพย์ที่ถืออยู่จำนวนมาก จนอาจขายได้ราคาต่ำกว่าที่ควร การเก็บค่าธรรมเนียมตรงนี้จึงช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นที่ไม่ได้ขายหน่วยลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าว
2) การปรับ NAV ต่อหน่วยลงทุนให้สะท้อนต้นทุนการปรับพอร์ตของกองทุนรวม (Swing Pricing) เป็นเครื่องมือที่ให้ บลจ. สามารถปรับราคาหน่วยลงทุนให้เพิ่มหรือหักออกด้วย Swing Factor ได้ ในกรณีที่สินทรัพย์ที่ต้องเร่งขายนั้นมีสภาพคล่องต่ำมาก หรืออาจต้องขายสินทรัพย์ก่อนที่จะถึงระยะเวลาครบกำหนดที่ขายได้
3) การเก็บค่าธรรมเนียมจากฝั่งผู้ซื้อหรือฝั่งผู้ขายเพื่อให้สะท้อนต้นทุนในการปรับพอร์ตของกองทุนรวม (Anti-Dilution Levies หรือADLs) บลจ. สามารถคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเพื่อให้สะท้อนต้นทุนการปรับพอร์ตในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนผิดปกติหรือสภาพคล่องผิดปกติได้
กลุ่มลดหรือชะลอแรงซื้อขาย (Restrict access to investor capital) คือเครื่องมือในกลุ่มที่จำกัดปริมาณการซื้อขายของผู้ถือหน่วยลงทุน ด้วยการกำหนดระยะเวลา หรือปริมาณการขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกล่วงหน้า แยกสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำออกจากสินทรัพย์อื่นของกองทุนรวม จนถึงเครื่องมือเพื่อระงับการซื้อขายกองทุนชั่วคราว เครื่องมือในกลุ่มนี้จะถูกใช้ด้วยความระมัดระวังอย่างสูงและใช้ตามลำดับของความเข้มงวดของสถานการณ์ เนื่องจากส่งผลต่ออิสระในการซื้อขายหน่วยลงทุนของผู้ถือกองทุนโดยตรง เครื่องมือในกลุ่มนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 เครื่องมือย่อย
4) การกำหนดจำนวนวัน ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนส่งคำสั่งเพื่อทำรายการล่วงหน้า (Notice Period) เป็นการกำหนดระยะเวลาให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ต้องการขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกเกินปริมาณที่กำหนด ต้องส่งคำสั่งล่วงหน้าให้กับ บลจ.
5) การจำกัดปริมาณการขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออก (Redemption Gate) เป็นการจำกัดปริมาณสูงสุดที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะสามารถขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกได้ในช่วงเวลาที่กำหนด และกองทุนจะใช้เครื่องมือนี้ได้ไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดไว้
6) การแยกทรัพย์สินของกองทุนรวมที่ติดปัญหาด้านสภาพคล่องออกจากทรัพย์สินโดยรวมของกองทุนรวม (Side Pocket) เป็นเครื่องมือที่ใช้แยกสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำ หรือติดปัญหาด้านสภาพคล่อง ออกจากทรัพย์สินรวมของกองทุน เพื่อให้มูลค่าหน่วยลงทุนสะท้อนมูลค่าสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเท่านั้น โดยเมื่อทรัพย์สินนี้ได้รับการชำระหนี้จากผู้ออกตราสารหรือสามารถขายคืนได้ กองทุนรวมก็จะทำการชำระเงินคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุน
7) การระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราว (Suspension of Dealings) เป็นเครื่องมือสุดท้ายที่จะใช้เฉพาะในช่วงที่เหตุการณ์ผิดปกติรุนแรงจนกระทบต่อผลประโยชน์โดยรวมของผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งการใช้เครื่องมือนี้จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการควบคุมและข้อบังคับตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต.
ประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้จากเครื่องมือ LMTs
เครื่องมือทั้งหมดที่กล่าวมาจะถูกใช้ตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อย่างที่กล่าวไปว่า ตามปกติแล้วกองทุนรวมเองจะมีการเตรียมสภาพคล่องไว้บางส่วนเพื่อรองรับเหตุการณ์ผิดปกติอยู่แล้ว เครื่องมือ LMTs จึงเป็นเหมือนเครื่องมือเสริมที่จะใช้งานก็ต่อเมื่อสถานการณ์รุนแรงผิดปกติหรือมูลค่าธุรกรรมสูงเกินปกติเท่านั้น
สำหรับคนที่จะทำธุรกรรมกองทุนรวมด้วยปริมาณหรือระยะเวลาแบบปกติทั่ว ๆ ไป ในช่วงที่มีการใช้เครื่องมือ LMTs อยู่นั้น ส่วนใหญ่ก็ยังสามารถทำธุรกรรมได้ตามปกติ (ยกเว้นการใช้เครื่องมือข้อ 7 ซึ่งมีโอกาสใช้น้อยมาก) เพียงแต่อาจใช้ระยะเวลาในการซื้อขายหรือสับเปลี่ยนเพิ่มขึ้น หรือมีต้นทุนค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นบ้าง ในทางกลับกัน หากไม่มีเครื่องมือ LMTs เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ตลาดหรือสภาพคล่องผิดปกติ ผลกระทบจากแรงซื้อขายที่มากเกินไป อาจทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเจอกับผลขาดทุนมากกว่าที่ควรจะเป็น
เครื่องมือทั้งหมดนี้ ก็เพื่อผลประโยชน์ในระยะยาวของผู้ถือหน่วยลงทุนทุกคนที่เข้ามาลงทุนกับกองทุนรวมเพื่อให้ลงทุนในกองทุนรวมอย่างสบายใจมากขึ้น
ศึกษาข้อมูล LMTs เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3RnBQhp