[ลงทุนแมน] รู้จัก LMTs เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องของกองทุนรวม

AIMC x ลงทุนแมน

สังเกตไหมว่า เมื่อตลาดเกิดความผันผวนผิดปกติ มักจะเกิดความตื่นตระหนกในโลกการลงทุน และส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้าง เช่น

– เกิดต้นทุนราคาที่ไม่เหมาะสม

– เกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนรวม ส่งผลรุนแรงต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV)

สถานการณ์แบบนี้ เราที่เป็นผู้ลงทุนก็มักจะเร่งขายคืนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนมากหรือรวดเร็วกว่าปกติ

ซึ่งการเร่งขายสินทรัพย์ของกองทุนรวม อาจทำให้เกิดต้นทุนราคาที่ไม่เหมาะสม และเกิดผลกระทบรุนแรงต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม

ทำให้ผู้ลงทุนที่ขายคืนหน่วยลงทุนในวันนั้น ก็จะได้รับเงินคืนที่ต่ำกว่าสถานการณ์ปกติ

เพราะผู้จัดการกองทุนจำเป็นต้องเร่งขายสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ

ส่วนผู้ลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนอยู่ ก็จะได้รับผลกระทบจาก NAV ที่ลดลง แต่ถ้าไม่ได้ทำอะไร เงินในกระเป๋าก็อาจลดลงไม่มาก เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ผลการดำเนินงานยังแข็งแกร่ง NAV ก็จะปรับเข้าสู่จุดที่ควรจะเป็น

แต่ในกรณีเลวร้ายสุด ๆ หากผู้ลงทุนตื่นตระหนกเร่งเทขายหน่วยลงทุนอย่างมากอาจส่งผลให้กองทุนรวมมีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการไถ่ถอน

และอาจนำไปสู่การยกเลิกกองทุนรวม

พอเป็นแบบนี้สงสัยกันไหมว่า กองทุนรวมเขาบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องกันอย่างไร ?

แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนมากแค่ไหน ?

ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..

ต้องยอมรับว่า “กองทุนรวม” กลายเป็นหนึ่งช่องทางในการลงทุนที่สำคัญในยุคนี้

สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้กำหนดให้บริษัทจัดการลงทุนมืออาชีพ ต้องมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม เรียกว่า Liquidity Management Tools หรือ LMTs

เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนและรักษาผลประโยชน์โดยรวมต่อผู้ถือหน่วยลงทุน

โดยรายละเอียดต่าง ๆ ของ LMTs จะอยู่ในหนังสือชี้ชวนของทุกกองทุนรวม ตั้งแต่ ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถอ่านและศึกษาทำความเข้าใจ

แล้วถ้าถามว่า LMTs เกี่ยวข้องกับเราที่เป็นผู้ลงทุนอย่างไร..

ต้องบอกว่า ปัจจุบันเครื่องมือ LMTs มี 2 กลุ่ม รวมทั้งหมด 7 เครื่องมือสำคัญ แบ่งออกเป็น..

กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่ส่งผ่านต้นทุนโดยผู้ที่ทำธุรกรรมในช่วงตลาดผันผวนต้องเป็นผู้ที่รับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น มีทั้งหมด 3 เครื่องมือ คือ

– Liquidity Fee

คือ การเก็บค่าธรรมเนียมผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออก

ที่ไม่เป็นไปตามเวลาหรือปริมาณที่กำหนด เพื่อสะท้อนต้นทุนของกองทุนรวมและเพื่อความเป็นธรรมกับผู้ถือหน่วยที่ไม่ได้ทำรายการในช่วงดังกล่าว

– Swing Pricing

คือ การปรับ NAV ต่อหน่วยลงทุน เพื่อสะท้อนต้นทุนการซื้อขายทรัพย์สินของกองทุนรวม ในช่วงสถานการณ์สภาพคล่องผิดปกติ

– Anti-Dilution Levies (ADLs)

คือ การเก็บค่าธรรมเนียมจากฝั่งผู้ลงทุนที่ซื้อหรือจากฝั่งผู้ลงทุนที่ขายหน่วยลงทุนเข้ากองทุนรวม

เพื่อสะท้อนต้นทุนในการซื้อขายทรัพย์สินและการปรับพอร์ตลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวน

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มลดหรือชะลอแรงซื้อขาย เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนมีเวลาในการบริหารสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพ มีทั้งหมด 4 เครื่องมือ คือ

– Notice Period

คือ การกำหนดวันส่งคำสั่งเพื่อทำรายการล่วงหน้า เมื่อต้องการขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกเกินปริมาณที่กำหนด

เพื่อที่ว่ากองทุนรวมจะได้มีเวลาเตรียมขายสินทรัพย์ เพื่อมาชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน

– Redemption Gate

คือ การลดความร้อนแรงของปริมาณธุรกรรม

ด้วยการกำหนดปริมาณการขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกได้ไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กำหนดไว้ โดยผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกจะไม่ได้รับการชำระเต็มจำนวน แต่เป็นไปตามสัดส่วน (Pro rata) ซึ่งคำสั่งขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกที่เหลือจะทำรายการในวันทำการถัด ๆ ไป

– Side Pocket

คือ การแยกทรัพย์สินที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องออกจากทรัพย์สินโดยรวมของกองทุนรวม

เพื่อให้ NAV ต่อหน่วยลงทุนสะท้อนมูลค่าสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเท่านั้น โดยเมื่อทรัพย์สินที่มีปัญหาสามารถขายคืนหรือได้รับการชำระหนี้ กองทุนรวมก็จะทำการชำระเงินคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุน

– Suspension of Dealings

คือ การระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราว ซึ่งสูงสุดไม่เกิน 5 วันทำการ ยกเว้นสำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติเห็นควรให้มีระยะเวลาเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม

และเพื่อลดความตื่นตระหนกจากความผันผวนของตลาด

จะเห็นได้ว่า เครื่องมือ LMTs เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนไม่น้อย

เพราะในโลกการลงทุน คงไม่ได้มีแค่การศึกษาต่อยอดเพื่อสร้างผลกำไร

แต่ยังต้องรู้จักบริหารความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนด้วย

สุดท้ายแล้ว.. เมื่อความผันผวนของตลาดส่งผลกระทบต่อพอร์ตลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

LMTs จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ซึ่ง บลจ. ยังมีหลักการบริหารและมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่ช่วยบริหารความเสี่ยงองค์รวมของกองทุนรวม

เพื่อที่จะสร้างความเป็นธรรมและประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน นั่นเอง..

ผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3RnBQhp

Reference

www.aimc.or.th