“LMTs: เพื่อผู้ถือหน่วยลงทุนและเสถียรภาพของกองทุนรวม”
เริ่มแล้วสำหรับการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องของกองทุนรวม (LMTs) ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) มีเครื่องมือ LMTs ที่ครอบคลุมครบทั้ง 4 หลักการ ประกอบด้วย เครื่องมือที่สะท้อนและส่งผ่านต้นทุนจากการปรับพอร์ตในภาวะที่ตลาดมีความผิดปกติหรือมีการไถ่ถอนมากเกินปกติ, เครื่องมือที่กำหนดปริมาณหรือเวลาในการขายคืนหน่วยลงทุนให้สอดคล้องกับสภาพคล่อง, เครื่องมือที่จัดการกับตราสารหรือสินทรัพย์ที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องด้วยกลไกที่เป็นธรรม และเครื่องมือที่ระงับการซื้อขายหากมีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยโดยรวม โดยในส่วนของเครื่องมือ LMTs เพื่อรองรับหลักการดังกล่าวนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็น 7 เครื่องมือเรียงตามความหนักเบาของสถานการณ์สภาพคล่องของกองทุน และผลกระทบของการใช้เครื่องมือที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ บลจ. สามารถเลือกใช้เครื่องมือที่สะท้อนต่อสภาพการณ์ในขณะนั้น และบลจ. ต้องกำหนดแนวทางและเงื่อนไขการใช้เครื่องมือไว้แต่ต้นในหนังสือชี้ชวนการลงทุน
“LMTs: 7 เครื่องมือเพื่อบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม”
เครื่องมือ LMTs มี 7 เครื่องมือ ประกอบด้วย Liquidity Fee, Swing Pricing, Anti-Dilution Levies (ADLs), Notice Period, Redemption Gate, Side Pocket และ Suspension of Dealings เจอศัพท์ทางเทคนิคเยอะ เพื่อน ๆ อย่าพึ่งกุมขมับนะคะ เราลองมาแกะทั้ง 7 เครื่องมือให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ได้ประมาณนี้
Liquidity Fee คือ เครื่องมือที่สะท้อนต้นทุนของกองทุนที่เกิดขึ้นในภาวะที่ตลาดมีความผันผวนสูงหรือมีการขายคืนหน่วยลงทุนหรือมีการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกของกองทุนนั้น ๆ สูงเกินกว่าปกติ โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะ “ผู้ขาย” หรือผู้สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออก ในจำนวนที่เกินกว่าปริมาณและ/หรือ ก่อนระยะเวลาที่กำหนด และเป็นการเรียกเก็บเข้ากองทุน
Swing Pricing เป็นเครื่องมือใช้ปรับมูลค่าหน่วยลงทุน เพื่อให้สะท้อนต้นทุนการซื้อขายของกองทุนในภาวะที่ตลาดมีความผันผวน โดยเพิ่มตัวแปร (Swing Factor) ที่ช่วยสะท้อนต้นทุนค่าใช้จ่ายและใช้ตัวแปรนั้นช่วยในการปรับมูลค่าหน่วยลงทุน ต้นทุนส่วนนี้อาจจะเป็นในรูปแบบของ spread cost, ค่าธรรมเนียมธุรกรรม, ค่าใช้จ่ายในการยืมทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งต้นทุนของแต่ละกองทุนรวมอาจจะไม่เหมือนกันได้นะคะ นอกจากนั้น กองทุนอาจเลือกใช้ Swing Pricing เฉพาะช่วงเวลาที่มีการซื้อขายสุทธิเกินกว่าที่กำหนดไว้ หรือจะใช้ทุกวันในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนก็ได้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขในการใช้เครื่องมือตามลักษณะสินทรัพย์หรือต้นทุนที่เกิดขึ้นกับกองทุนรวมนั้น ๆ
Anti-Dilution Levies (ADLs) เป็นเครื่องมือที่ทำให้การซื้อขายหน่วยลงทุนสะท้อนต้นทุนที่เกี่ยวข้องจากการปรับพอร์ตของกองทุน ในภาวะตลาดผันผวนสูงผิดปกติหรือสภาพคล่องผิดปกติ หรือเกิดเหตุการณ์อื่นที่อาจจะกระทบต่อต้นทุนและค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม โดยกองทุนจะกำหนดมูลค่าซื้อขายสุทธิเป็นเกณฑ์ของเครื่องมือ ถ้ามีการซื้อขายหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเกินกว่าระดับที่กำหนด กองทุนจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเข้ากองทุน ซึ่งก็เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้นนะคะ ไม่ใช่เรียกเก็บเท่าใดก็ได้ และการคิดค่าธรรมเนียมอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากฝั่งผู้ชื้อ/สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเข้า หรือจากฝั่งผู้ขาย/สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ บลจ. กำหนด
ทั้ง 3 เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือในลักษณะส่งผ่านต้นทุนการทำธุรกรรม (Pass on Transaction Costs) มีผลกระทบต่อมูลค่าซื้อขายหน่วยลงทุน ผู้ทำธุรกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมและรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยโดยรวม
Notice Period คือ เครื่องมือที่จะกำหนดระยะเวลาในการส่งคำสั่งเพื่อทำรายการขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกไว้ล่วงหน้าหากผู้ถือหน่วยทำรายการที่เกินกว่าปริมาณที่กำหนด เพื่อให้กองทุนมีเวลาในการเตรียมขายสินทรัพย์เพื่อมาชำระค่าขายคืนหน่วยนั่นเอง
Redemption Gate เป็นเครื่องมือที่ลดความร้อนแรงในการขายคืนหน่วยลงทุนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกในช่วงภาวะที่ตลาดมีความผันผวนผิดปกติหรือช่วงที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนเกินกว่าระดับที่ตั้งไว้ ซึ่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกที่เหลือจะทำการขายคืนให้ในวันทำการถัดไป ทั้งนี้ บลจ. จะใช้วิธีการชำระคืนตามสัดส่วน หรือที่เรียกว่า Pro rata สำหรับรายการส่วนที่เหลือ บลจ. จะนำไปรวมกับรายการขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกที่ได้รับในวันทำการถัดไป ซึ่งหากวันทำการถัดไป บลจ. ยังคงใช้เครื่องมือนี้ บลจ. ก็จะชำระคืนตามวิธี Pro rata โดยไม่มีการจัดลำดับก่อนหลัง แต่หากวันทำการถัดไปกองทุนมีสภาพคล่องเพียงพอ ทำให้ บลจ. ไม่ต้องใช้เครื่องมือนี้ บลจ. ก็จะชำระคืนตามรายการขายคืนหน่วยลงทุนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกที่ได้รับไว้ทั้งหมด
Side Pocket คือ เครื่องมือที่ทำให้กองทุนรวมสามารถแยกสินทรัพย์ที่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือสินทรัพย์ที่ไม่สามารถขายออกได้อย่างรวดเร็วหรือหากขายออกได้ก็จะได้ระดับราคาที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างมากทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมเสียประโยชน์ โดยในการแยกสินทรัพย์ที่มีปัญหาด้วยวิธีการนี้ กองทุนก็จะทำการขายสินทรัพย์ดังกล่าวในอนาคตตามความเหมาะสมและโอกาส เพื่อนำเงินมาชำระคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่กองทุนได้เก็บข้อมูลไว้ในระบบทะเบียนตั้งแต่ต้น ดังนั้น ผู้ถือหน่วยลงทุนจึงไม่ต้องตกใจ เมื่อกองทุนสามารถขายสินทรัพย์นั้น ๆ ออกได้ ผู้ลงทุนจะได้รับชำระเงินจากสินทรัพย์ที่ถูกแยกออกนี้
Suspension of Dealings คือการระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนเป็นการชั่วคราวเพื่อลดผลกระทบต่อการบริหารสภาพคล่องของกองทุน และโดยเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหารุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นปิดกอง จัดเป็นเครื่องมือที่มีผลกระทบสูง การใช้เครื่องมือถูกควบคุมดูแลจากสำนักงาน ก.ล.ต. เงื่อนไขของการนำมาใช้จะต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของผู้ถือหน่วยลงทุน เช่น กองทุนจะใช้เครื่องมือนี้ได้ไม่เกิน 5 วันทำการ ยกเว้นจะมีเหตุผลอันควรเป็นพิเศษซึ่งต้องขออนุมัติจากสำนักงานฯ เพิ่มเติม เป็นต้น
จะเห็นว่าทั้ง 4 เครื่องมือชุดนี้เน้นไปที่การชะลอหรือจำกัดการทำธุรกรรม (Restrict access to investor’s capital) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพคล่องกองทุนในขณะนั้นๆ จึงมีผลกระทบต่ออิสระในการทำธุรกรรมของผู้ถือหน่วยลงทุนหรือผู้ลงทุนทั่วไป
และที่กล่าวมาทั้งหมดคือ 7 เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องได้อย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความเป็นธรรม เพื่อเสถียรภาพของกองทุนรวมและเพื่อประโยชน์ร่วมของผู้ลงทุนทุกท่านนั่นเองค่ะ
#LMTs #AIMC #MutualFund #เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม