ทำความรู้จัก LMTs เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม [Wealth Me Up]

ในโลกแห่งการลงทุน…ที่ยังมีความเสี่ยงหลายด้าน

ไม่เว้นแม้แต่การลงทุนในกองทุนรวมที่มีผู้เชี่ยวชาญดูแลพอร์ตให้ เราจะควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์หลากหลายด้านอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อความเสี่ยงนั้นอาจเกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ วันนี้เราจึงขอมาแนะนำ “เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม” หรือ LMTs ที่กองทุนรวมปัจจุบันนั้นยึดใช้งานอยู่ เพื่อช่วยให้คุณอุ่นใจและมั่นใจในการลงทุนกองทุนรวม โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกมีความผันผวนและมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

LMTs คืออะไร?

Liquidity Management Tools (LMTs) คือเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม จะถูกนำมาใช้เฉพาะในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนรุนแรง เกิดวอลลุ่มซื้อ และ/หรือ ขายที่มีปริมาณมากหรือรวดเร็วเกินกว่าสถานการณ์ปกติไปมาก ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนรวม ซึ่งการเร่งซื้อหรือเร่งขายสินทรัพย์ของกองทุนรวมในช่วงเวลาดังกล่าว อาจทำให้เกิดต้นทุนราคาที่ไม่เหมาะสม เกิดผลกระทบรุนแรงต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจทำให้กองทุนรวมมีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการไถ่ถอน ส่งผลรุนแรงถึงขั้นต้องยกเลิกกองทุนรวม

LMTs มีประโยชน์อย่างไร ?

1. ชะลอผลกระทบด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมที่อาจรุนแรงจนถึงขั้นปิดกอง

2. เพื่อความเป็นธรรม ปกป้องผลประโยชน์โดยรวมของกองทุนและผู้ถือหน่วยลงทุน

3. ช่วยให้กองทุนในไทยมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องที่สอดรับกับกองทุนรวมต่างประเทศที่เสนอขายในไทย (Foreign Investment Fund – FIF)

4. ช่วยลดความเสี่ยงของระบบ (Systemic Risk) ของตลาดทุนโดยรวม

นี่คือ 7 เครื่องมือ LMTs บริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม ซึ่งอาจจำแนกตามคุณลักษณะได้เป็น 2 กลุ่มคือ

กลุ่มที่ส่งผ่านต้นทุน (Pass on Transaction Costs)

1. Liquidity Fee – การคิดค่าธรรมเนียมผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืนเกินปริมาณ และ/หรือ ระยะเวลา เป็นเครื่องมือที่ให้ บลจ.สามารถเก็บค่าธรรมเนียมผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขายคืนเกินปริมาณ และ/หรือ ระยะเวลาที่กำหนด เหตุผลที่ต้องเรียกเก็บเนื่องจากการขายคืนดังกล่าวมีผลให้กองทุนรวมต้องเร่งขายสินทรัพย์ออกซึ่งอาจจะทำให้ได้ราคาที่ต่ำกว่าที่ควร หรืออาจจะทำให้กองทุนรวมไม่สามารถขายสินทรัพย์ได้ในราคาที่เหมาะสมส่งผลให้ต้นทุนของสินทรัพย์ที่ถูกขายสูงเกินกว่าปกติหรือขาดทุน

2. Swing Pricing – การปรับ NAV ต่อหน่วยให้สะท้อนต้นทุนการปรับพอร์ตของกองทุนรวม เป็นเครื่องมือที่ให้ บลจ. สามารถปรับ NAV ต่อหน่วยลงทุนเพื่อให้สะท้อนต้นทุนการซื้อขายทรัพย์สินของกองทุนรวม ด้วยการเพิ่มหรือหักออกด้วย Swing Factor โดยมูลค่า NAV ต่อหน่วยลงทุนรูปแบบใหม่ที่ได้ เราเรียกว่า Swung NAV

3. Anti-Dilution Levies (ADLs) – การเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อให้สะท้อนต้นทุนในการปรับพอร์ตของกองทุนรวม เป็นเครื่องมือที่ให้ บลจ. สามารถคิดค่าธรรมเนียมเพื่อให้สะท้อนต้นทุนการปรับพอร์ตจากการทำธุรกรรมในภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูงผิดปกติหรือสภาพคล่องผิดปกติการคิดค่าธรรมเนียมอาจเกิดขึ้นที่ฝั่งผู้ซื้อ/สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเข้า หรือฝั่งผู้ขาย/สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออก ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ บลจ. กำหนด

กลุ่มลดหรือชะลอแรงซื้อขาย (Restrict access to investor capital)

4. Notice Period – การกำหนดจำนวนวันให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทำรายการล่วงหน้า เป็นเครื่องมือที่ บลจ. จะกำหนดระยะเวลาให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ต้องการขายคืนหน่วย หรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกเกินกว่าปริมาณที่ บลจ. กำหนด ต้องส่งคำสั่งล่วงหน้า

5. Redemption Gate – การจำกัดปริมาณการขายคืนหน่วยลงทุน เป็นเครื่องมือที่ บลจ. ใช้เพื่อกำหนดเพดานมูลค่าที่จะให้ผู้ถือหน่วยลงทุนขายคืนหน่วยลงทุนได้ในแต่ละกองทุนรวมเมื่อเกิดสถานการณ์ไม่ปกติหรือประเมินว่าสถานการณ์อาจจะไม่ปกติซึ่ง บลจ. อาจใช้การกำหนด Threshold เป็นตัวบ่งชี้สถานการณ์ไม่ปกติดังกล่าว

6. Side Pocket – การแยกทรัพย์สินของกองทุนรวมที่ติดปัญหาด้านสภาพคล่องออกจากทรัพย์สินโดยรวมของกองทุนรวม เป็นเครื่องมือที่ บลจ. ใช้เพื่อแยกทรัพย์สินของกองทุนรวมที่ติดปัญหาด้านสภาพคล่องออกจากทรัพย์สินโดยรวมของกองทุนรวมโดยในวันที่ บลจ. ดำเนินการแยกทรัพย์สินจะทำทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ณ วันทำการนั้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการคืนเงินที่ บลจ. อาจได้รับจากทรัพย์สินที่ติดปัญหาด้านสภาพคล่องข้างต้นในอนาคต

7. Suspension of Dealings – การระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราว เป็นเครื่องมือที่ บลจ. จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราวรวมถึงไม่รับคำสั่งซื้อขายใหม่ที่เกิดขึ้นในวันที่ประกาศใช้ เพื่อจำกัดเรื่องผลกระทบเรื่องความตื่นตระหนกจากความผันผวนของตลาด และรักษาผลประโยชน์โดยรวมของผู้ถือหน่วยลงทุนไว้ ซึ่งในการใช้เครื่องมือ Suspension of Dealing บลจ. จะใช้เครื่องมือได้เมื่อเข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งของเครื่องมือเท่านั้น

LMTs จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากถูกออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละกองทุนรวม ในการรองรับสภาพตลาดผันผวนรุนแรงหรือมีปริมาณธุรกรรมมากเกินไป ให้สามารถนำมาใช้ได้ทันท่วงที ช่วยป้องกันหรือชะลอผลกระทบที่รุนแรงที่อาจถึงขั้นยกเลิกกองทุนรวมได้ เพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนในกองทุนรวมแบบสบายใจมากขึ้น

ทำความเข้าใจ LMTs เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3RnBQhp

อ่านต่อ… https://wealthmeup.com/23-01-05-lmts/

#WealthMeUp#ให้เงินทำงาน

#LMTs#บริหารความเสี่ยง

– – – – –

กดติดตาม Wealth Me Up เพื่อให้ไม่พลาดข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่อง ‘ใช้แรงทำเงิน ให้เงินทำงาน’ ได้ที่

Website: www.wealthmeup.com

Facebook: https://www.facebook.com/WealthMeUp/

YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCAXA-wPncTP9QXJlUk9CqLw

TikTok: https://www.tiktok.com/@wealthmeup

Line: https://line.me/R/ti/p/%40wealthmeup

Instagram: https://instagram.com/wealthmeup?igshid=YmMyMTA2M2Y=