[Cashury] เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม

เพื่อนๆ ที่ลงทุนในกองทุนรวมอยู่ ต้องรู้เรื่องนี้!!

.

“เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม”

ตัวช่วยปกป้องผลประโยชน์โดยรวมของผู้ลงทุนและกองทุนรวม

.

ในรอบปีที่ผ่านมา เราได้เจอเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนมากมาย เช่น เงินเฟ้อสูง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศ ทำให้ตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนทั่วโลกเกิดความผันผวนสูงกว่าปกติ รวมถึงเกิดความผันผวนต่อมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม (NAV) ด้วย

.

เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ คนส่วนใหญ่จะเกิดความกังวลและเทขายกองทุนที่ถืออยู่ เพราะต้องการถือเงินสดเพื่อความอุ่นใจไว้ก่อน ถ้าเราเทขายกันจำนวนมาก ก็อาจทำให้กองทุนต้องขายสินทรัพย์ในจังหวะที่สภาพตลาดและราคาไม่ปกติ ซึ่งจะกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่ขายกองทุนวันนั้นก็จะได้ราคาต่ำลง ส่วนคนที่ยังถืออยู่ NAV ก็จะลดลง

.

ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) จำเป็นต้องมีเครื่องมือมาช่วยบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม หรือ Liquidity Management Tools (LMTs) เพื่อรักษาผลประโยชน์โดยรวมของผู้ลงทุนและกองทุนรวม และลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายแก่กองทุน ทำให้เราลงทุนในกองทุนแบบสบายใจมากขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงต่อระบบการเงินและการลงทุนในวงกว้าง

.

ซึ่งตลาดทุนในประเทศที่พัฒนาแล้วก็ใช้เครื่องมือนี้กัน การที่กองทุนของไทยนำมาใช้จะทำให้เรามีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องที่เป็นแนวทางเดียวกับกองทุนชั้นนำในต่างประเทศ

.

โดยบลจ. จะใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น และสามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ เช่น ในกรณีที่ตลาดทุนผันผวนรุนแรงผิดปกติ หรือเกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเป็นจำนวนมากเกินปกติ เป็นต้น

.

เครื่องมือ LMTs สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

.

1. กลุ่มส่งผ่านต้นทุนให้กับผู้ทำธุรกรรม (Pass on Transaction Costs) ได้แก่

• Liquidity Fee – การเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ที่ขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเกินจำนวนหรือเงื่อนไขที่กำหนด หรือเร็วกว่าระยะเวลาที่กำหนด

• Swing Pricing – การปรับ NAV ต่อหน่วยลงทุนในวันที่มีปริมาณการซื้อขายหน่วยลงทุนมากผิดปกติและเกินกว่าเพดานที่กำหนดไว้เพื่อสะท้อนต้นทุนการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุนรวม

• Anti-dilution Levies (ADLs) – การเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเฉพาะวันที่มีการทำธุรกรรมมูลค่าเกินกว่าที่กองทุนกำหนด เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในการปรับพอร์ตของกองทุน

.

2. กลุ่มช่วยลดหรือชะลอแรงซื้อขาย (Restrict Access to Investor Capital) ได้แก่

• Notice Period – การกำหนดให้ผู้ถือหน่วยแจ้งขายคืนหน่วยลงทุนล่วงหน้าตามเงื่อนไขของกองทุน สำหรับผู้ที่ทำรายการในปริมาณมากเท่านั้น

• Redemption Gate – การกำหนดเพดานการขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกในแต่ละวันทำการไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กำหนดไว้ กรณีทำรายการไม่หมด คำสั่งที่เหลือจะดำเนินการในวันถัดๆ ไป

• Side Pocket – การแยกทรัพย์สินของกองทุนที่ขาดสภาพคล่องออกจากทรัพย์สินโดยรวมของกองทุนไว้ก่อน แล้วจะคืนเงินเฉพาะส่วนนี้ให้ผู้ถือหน่วยลงทุน เมื่อได้รับชำระคืนหรือขายทรัพย์สินออกได้ในราคาที่เหมาะสม

• Suspension of Dealings – การระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราว และไม่รับคำสั่งซื้อขายใหม่ที่เกิดขึ้นในวันที่ประกาศใช้

.

นักลงทุนสามารถตรวจสอบเครื่องมือบริหารสภาพคล่องได้ในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน https://bit.ly/3RnBQhp

.

.

#Cashury#กองทุนรวม#บริหารความเสี่ยง#เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม#LMTs