[เด็กการเงิน] ทำความรู้จัก 7 เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม (LMTs) ที่ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างสบายใจ

นักลงทุนกองทุนรวมอาจกังวลใจกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อสูง หรือสงครามยูเครน รัสเซีย ที่กดดันตลาดหุ้น หลายคนอาจเลือกที่จะขายกองทุนออกมาเพื่อถือเงินสดในช่วงเวลาที่ตลาดผันผวน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้กองทุนขาดสภาพคล่อง ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ได้มีการจัดเตรียมเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม ซึ่งเครื่องมือนี้ถูกใช้ในประเทศตลาดทุนพัฒนาแล้ว การมีเครื่องมือนี้จะเป็นการทำให้กองทุนรวมของไทยมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องที่เป็นแนวทางเดียวกับกองทุนชั้นนำในต่างประเทศ และช่วยให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างสบายใจ

วันนี้ #เด็กการเงิน ขอมาแชร์ 7 เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม (LMTs) ที่ บลจ. สามารถเลือกใช้เพื่อให้สามารถบริหารกองทุนในช่วงเวลาที่ตลาดผันผวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของนักลงทุนและกองทุนรวม

7 เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม (LMTs) แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่นักลงทุนที่ทำธุรกรรมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในกรณีที่มีการซื้อหรือขายเกินกว่าปริมาณหรือเวลาที่กำหนด มี 3 เครื่องมือ ได้แก่ Liquidity Fee, Swing Pricing และ Anti-dilution Levies (ADLs)

2. กลุ่มที่ช่วยลดการทำธุรกรรมซื้อขายหน่วยลงทุน มี 4 เครื่องมือ ได้แก่ Notice Period, Redemption Gate, Side Pockets และ Suspension of Dealings

ไปทำความรู้จักแต่ละเครื่องมือกันเลย

1. Liquidity Fee เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะนักลงทุนที่ขายคืนหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเกินจำนวนหรือระยะเวลาที่กำหนด

2. Swing Pricing เป็นการปรับมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) เฉพาะวันที่มีการซื้อขายหน่วยลงทุนเกินกว่าที่กองทุนกำหนดไว้ เพื่อสะท้อนต้นทุนการซื้อขายสินทรัพย์ของกองทุนรวม (Swing factor) โดยในวันที่มีการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่าที่กองทุนกำหนดไว้ จะปรับมูลค่าหน่วยลงทุนโดยการคิด NAV+Swing factor หากเป็นวันที่มีการขายหน่วยลงทุนเกินกว่าที่กองทุนกำหนดไว้ จะปรับมูลค่าหน่วยลงทุนโดยการคิด NAV–Swing factor

3. Anti-dilution Levies (ADLs) บลจ. จะกำหนดระดับปริมาณธุรกรรมของกองทุนรวม (Threshold) ไว้ หากวันใดมีปริมาณธุรกรรมเกิน Threshold ที่กำหนด ก็จะเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากผู้ที่ทำรายการซื้อหน่วยลงทุนเกิน หรือผู้ที่ทำรายการขายหน่วยลงทุนเกิน โดยเลือกเก็บจากฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพื่อชดเชยต้นทุนในการปรับพอร์ตของกองทุนรวม ซึ่ง บลจ. สามารถกำหนด Threshold ได้ตามกรณีใดกรณีหนึ่งหรือทั้งสองกรณีดังนี้

กรณีที่ 1 หากมูลค่าที่นักลงทุนซื้อหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเข้า ‘มากกว่า’ มูลค่าฝั่งขายหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออก

กรณีที่ 2 หากมูลค่าที่นักลงทุนซื้อหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเข้า ‘น้อยกว่า’ มูลค่าฝั่งขายหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออก

4. Notice Period กำหนดระยะเวลาให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ต้องการขายหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกปริมาณมากต้องส่งคำสั่งทำรายการล่วงหน้าตามเงื่อนไขของกองทุน

5. Redemption Gate จำกัดการขายหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกไม่ให้เกินกว่าระดับเพดานที่กำหนดไว้ โดยจะทยอยขายเพื่อจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ทำรายการตามสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน (Pro-rata) ส่วนที่เหลือจะทยอยทำรายการให้ตามสัดส่วนในวันถัด ๆ ไปโดยไม่มีการจัดอันดับก่อนหลัง

6. Side Pockets แยกหลักทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องออก ไม่นำมูลค่าหลักทรัพย์ดังกล่าวมาคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ทำให้กองทุนมี NAV ลดลง โดย บลจ. จะทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนไว้ และคืนเงินให้ภายหลังเมื่อกองทุนสามารถขายหลักทรัพย์ที่ถูกแยกออกมาได้

7. Suspension of Dealings ระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนชั่วคราวในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน เพื่อจำกัดผลกระทบจากความตื่นตระหนกของนักลงทุน

การใช้เครื่องมือ LMTs จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ บลจ. จะใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้นเพื่อความเป็นธรรมและประโยชน์สูงสุดของนักลงทุนและกองทุนรวม ทั้งนี้นักลงทุนอย่างเราก็อย่าลืมศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเครื่องมือบริหารสภาพคล่องเพิ่มเติมในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมก่อนตัดสินใจลงทุน

ศึกษาข้อมูล LMTs เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3RnBQhp