Liquidity Fee กับบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม

เพื่อน ๆ คงพอทราบถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการมีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม กันไปบ้างแล้วใช่ไหมคะ เครื่องมือแรกที่ช่วยให้การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมในช่วงเวลาที่เกิดการเร่งขายคืนจำนวนมากหรืออย่างรวดเร็วเกินไป ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสภาพคล่องโดยใช้หลักการส่งผ่านต้นทุนการทำธุรกรรมและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่วนนี้จากผู้ที่ทำรายการขายในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น คือ เครื่องมือที่มีชื่อว่า Liquidity Fee 

“รู้ เข้าใจ เครื่องมือ Liquidity Fee แบบ Easy Easy”

Liquidity Fee คือเครื่องมือที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ขายหรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนออกที่ทำรายการเกินกว่า “ปริมาณ” หรือ “ระยะเวลา” หรือทั้งสองอย่าง นั่นหมายความว่าถ้าไม่เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด “ไม่ถูกเรียกเก็บ” ดังนั้น ในเบื้องต้นผู้ถือหน่วยลงทุนสบายใจได้ก่อนว่าไม่ใช่การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มทุกครั้งที่ผู้ลงทุนขายหน่วยลงทุน นอกจากนั้นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บเพิ่มจะต้องสอดคล้องกับต้นทุนของกองทุนรวมที่เกิดขึ้น

…แต่การกำหนดกติกาดังกล่าวใช้บรรทัดฐานอย่างไรนะ?

 การกำหนดเกณฑ์ “ปริมาณ” หรือ “ระยะเวลา” หรือทั้งสองอย่าง ในแต่ละกองทุนรวมอาจกำหนดไม่เหมือนกันนะคะ ด้วยเพราะแต่ละกองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนที่ไม่เหมือนกัน บางกองทุนอาจมีนโยบายเพื่อช่วยบริหารสภาพคล่องหรือเพื่อใช้พักเงินก่อนไปลงทุนต่อ จึงถือครองสินทรัพย์สภาพคล่องหรือสินทรัพย์ที่ใกล้เคียงเงินสดไว้เยอะเพื่อให้เกิดศักยภาพในการรองรับการขายคืนหน่วยลงทุนจำนวนมากในเวลาเดียวกันได้ดีกว่า (แต่แน่นอนว่ากองทุนที่มีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงในปริมาณที่มาก ก็จะมีความสามารถในการสร้างโอกาสของผลตอบแทนที่ต่ำกว่ากองทุนที่มุ่งเน้นลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น) ส่วนเกณฑ์ด้านระยะเวลาเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่กองทุนสามารถใช้เป็นแนวทางกำหนดได้ เช่น กองทุนมีนโยบายการเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนแน่นอน ถ้ามีการขายสินทรัพย์นั้นในตลาดรองก่อนระยะเวลาที่กำหนดอาจทำให้ขาดทุนเงินต้นจำนวนมากได้ เป็นต้น 

“Liquidity Fee สะท้อนต้นทุน ประโยชน์ร่วมผู้ถือหน่วย”

เครื่องมือ Liquidity Fee จะช่วยรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม อย่างที่เพื่อน ๆ ทราบกันดีว่าในการทำธุรกรรมมักจะมีค่าธรรมเนียมหรือต้นทุนบางอย่างเสมอ แต่ทราบไหมคะว่าในช่วงภาวะที่ตลาดผิดปกติหรือในช่วงที่กองทุนจำเป็นต้องเร่งขายสินทรัพย์จากคำสั่งทำรายการจำนวนมากนั้น อาจจะทำให้กองทุนเกิดต้นทุนธุรกรรมที่สูงเกินกว่าปกติ หรืออาจจะทำให้กองทุนจำต้องขายสินทรัพย์ไปในราคาที่ไม่เหมาะสม ต้นทุนส่วนที่เกิดขึ้นนี้ในอดีตกองทุนจะเป็นผู้รับภาระและถูกหักออกจากทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งก็หมายถึงผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนเพิ่มในส่วนนี้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำการขายหน่วยลงทุนในช่วงผิดปกติดังกล่าวนั้นก็ตาม ดังนั้น การใช้เครื่องมือ Liquidity Fee ที่ส่งผ่านต้นทุนของกองทุนในช่วงที่ผิดปกติส่วนนี้ให้กับผู้ที่ทำธุรกรรมโดยเฉพาะ และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บได้จะนำเข้ากองทุน แบบนี้ก็จะช่วยสร้างความเป็นธรรมและรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยโดยรวมได้มากขึ้นกว่าในอดีต 

เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม หรือ LMTs มีประโยชน์หลักคือการทำให้กองทุนรวมมีเสถียรภาพผ่านกลไกการดูแลสภาพคล่องที่เป็นระบบ เราสามารถเรียนรู้ได้จากบทเรียนในอดีต จากวิกฤตที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพคล่องในระบบการเงิน เช่น วิกฤตสินเชื่อซับไพร์ม หรือวิกฤต COVID-19 โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในช่วงเริ่มแรก ที่ผู้คนตื่นตระหนก ผู้ลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงจนเกิด Circuit Breaking ในหลาย ๆ ตลาดหุ้นทั่วโลกและเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงในตลาดตราสารหนี้หลายแห่งทั่วโลก ช่วงวิกฤตดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของกองทุนรวมเป็นอย่างมาก ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่า  LMTs ที่ทางสำนักงาน ก.ล.ต. สนับสนุนรวมทั้งออกประกาศบังคับใช้กับทุกกองทุนรวมไทยไปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จะช่วยให้การบริหารงานกองทุนรวมโดยเฉพาะด้านสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในอดีต มีความเป็นสากลและเป็นไปในแนวทางเดียวกับประเทศชั้นนำ ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุนเป็นที่ตั้ง และเมื่อกองทุนมีเสถียรภาพ ผู้ถือหน่วยลงทุนก็สามารถวางใจ และพร้อมลงทุนได้อย่างสบายใจใช่ไหมคะ

#LMTs #AIMC #MutualFund #เครื่องมือบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องกองทุนรวม  #LiquidityFee